พรสวรรค์มีอยู่จริงไหม?

อีกหนึ่งประโยคท็อปฮิตจากคนรู้จัก เวลาที่ถามว่าได้พาลูกไปเรียนดนตรีไหมก็คือ..."พ่อแม่เล่นดนตรีไม่เป็นเลยซักคน ลูกพี่คงไม่ค่อยมีแวว"

ก่อนอื่นพ่อแม่ฉันก็เล่นไม่เป็นซักคน มีแต่อาม่าที่ชอบร้องเพลงสุนทราภรณ์ ส่วนอากงก็น่าจะชอบฟังอาม่าร้องและได้ยินมาว่าคุณตาทวดเล่นดนตรีไทยได้ แต่ก็นั่นแหละ เอาเป็นว่าไม่มีนักดนตรีในบ้านซักคน ฉันก็มาเป็นครูสอนดนตรีอยู่นี่ไง!!!

“พรสวรรค์ดนตรี มาจากพันธุกรรมหรือไม่?”

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย ที่เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี ไม่ว่าจะเป็น

  • Mozart นักดนตรีเอกของโลก ที่มีคุณพ่อเป็นครูไวโอลินชื่อดังแห่งยุคคลาสสิก

  • Bee Gees วงดนตรีของสามพี่น้องตระกูล Gibbs ตำนานแห่งวงการดนตรีเพลง Pop

  • The Carpenters พี่น้องสัญชาติอเมริกัน แห่งยุค 70’s

  • The Jackson Five บางคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่นี่คือวงดนตรีครอบครัวของนักร้อง King of Pop อย่าง Michael Jackson

  • คู่พี่น้อง อัสนี วสันต์

  • โต๋ ศักดิ์สิทธิ์-คุณพ่อต้อง Grand Ex

  • คู่แม่ลูก เดอะทอย-คุณแม่นิตยา บุญสูงเนิน

ศิลปินเหล่านี้ก็พาชวนให้เราคิดว่า ความสามารถทางด้านดนตรี คงเป็นยีนส์ที่สืบทอดกันทางสายเลือดแน่ๆ


ในอีกแง่มุมหนึ่ง งานวิจัย แบบวัดประเมินความสามารถทางด้านดนตรี

“The Goldsmiths Musical Sophistication Index (Gold-MSI)”
แบบประเมินชุดนี้ถูกที่ริเริ่มพัฒนานำโดย Dr Daniel Mullensiefen นักวิจัยด้านจิตวิทยาดนตรี จากGoldsmiths, University of London และได้รับการยอมรับจากนักวิจัยทั่วโลกและถูกตีพิมพ์หลากหลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และจีน
(ใครสนใจเชิญฟังต่อลิงค์นี้ได้ https://www.youtube.com/watch?v=CDmaKw227Cw)

แบบประเมินชิ้นนี้ ได้ให้ความสนใจ กับการประเมินความสามารถทางด้านดนตรีของมนุษย์จาก 5 ประเด็น ได้แก่

  1. Active Engagement

    จำนวนเวลาและจำนวนเงิน ที่ลงทุนกับกิจกรรมด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องดนตรี หรือการไปดูคอนเสิร์ต

  2. Perceptual Abilities

    ความสามารถการฟังดนตรี เช่นการฟังแล้วสามารถแยกแยะความแตกต่างของโน้ต หรือจังหวะได้ถูกต้อง

  3. Musical Training

    เช่น จำนวนชั่วโมงที่เรียนดนตรีและทฤษฎีดนตรีอย่างจริงจัง

  4. Singing Abilities

    ความสามารถด้านการร้องโดยไม่เพี้ยน หรือสามารถบอกได้เมื่อผู้อื่นร้องเพี้ยน

  5. Emotion

    ความสามารถในการอธิบายอารมณ์ความรู้สึกจากการฟัง หรือตีความจากบทเพลงที่ได้ยิน

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้คนคนหนึ่งมีความสามารถเป็นเลิศหรือมีพรสวรรค์ด้านดนตรีนั้นอาจจะไม่ใช่ยีนส์เสมอไป
แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เขาได้เติบโตมาด้วยดนตรีเสียมากกว่า

แน่นอนว่าคนที่เกิดในครอบครัวนักดนตรี ก็ย่อมมีโอกาสได้ฟังดนตรีที่ดีมากกว่าคนอื่น ได้มีโอกาสพบเจอคนเก่งๆที่สามารถสอนหรือชี้แนะได้ ได้ใช้เวลาคลุกคลีกับการเล่นดนตรีมากกว่า และเติบโตมาท่ามกลางเสียงดนตรีนั่นเอง

สมัยเรียนปริญญาโท หัวข้อนี้เคยเป็น Debate ที่อาจารย์ให้จัดทีมมานั่งถกกันสนุกๆ โดยสุดท้ายเราเชื่อกันว่า การเล่นดนตรีคือความสามารถแบบ acquired ability (ความสามารถที่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้)

ตรงกันข้ามกับ innate ability อย่างการกลืน การเดิน ที่เราสามารถเรียนรู้ได้เองตามพัฒนาการของมนุษย์​ ไม่จำเป็นต้องเรียน

“ดังนั้น การเล่นดนตรี ก็เป็นความสามารถที่มีแต่การใช้ความพยายามมาก

กับคนที่อาจจะใช้ความพยายามไม่มากนัก”


(คิดเห็นส่วนตัว) สำหรับคำว่า พรสวรรค์ อาจจะควรถูกใช้กับพวก Savant ซะมากกว่า ซึ่งคนส่วนนี้มีความพิเศษเช่น เป็น Autism
มนุษย์เรามี plasticity (ความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด)
ลองสังเกต ว่าคนที่บกพร่องทางการมองเห็นก็จะมีหูที่ดี คนที่บกพร่องทางการได้ยิน ก็จะต้องมีตาที่ดี ช่างสังเกต ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดนั่นเอง

ขอยกตัวอย่าง Savant ท่านหนึ่ง ที่เคยมีโอกาสได้พบเจอตัวจริง พูดคุย และชมการแสดงของเขาแบบสดๆ คือ Derek Paravicini เป็น Autistic และตาบอดตั้งแต่เกิด (ใครสนใจเชิญลิงค์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=3S1HK7LQY2I )
อาจารย์ของ Derek คือ Prof Adam Ockelford ก็บอกว่า เขาคิดว่าปัจจัยหลังที่ Derek มี Talent ด้านดนตรี น่าจะเป็นเพราะพี่เลี้ยง
"พี่เลี้ยง" นี่แหละเป็นกุญแจสำคัญที่พาคุณ Derek ร้องเล่นฟังเพลงตั้งแต่แบเบาะ จนฉายแววเป็นนักดนตรีอัจฉริยะแห่งยุคนี้

รู้หรือไม่

แต่เดิมเราเชื่อกันว่า คนที่ฟังเสียงตัวโน้ตออก สามารถเล่นตามได้ทันทีที่ได้ยิน แม้ไม่เคยฝึกซ้อมเพลงนี้มาก่อน (Perfect pitch) เป็นผู้ที่มี “พรสวรรค์ทางด้านดนตรี” แต่ในปัจจุบัน มีงานวิจัยจำนวนมากมายที่ได้ยืนยันว่า ความสามารถด้านการฟังอย่างเป็นเลิศหรือ Perfect Pitch นั้น สามารถสร้างได้จากการฝึกฝน งานวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร. Kenichi Miyazaki แห่งมหาวิทยาลัย Niigata ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive Psychology, Psychoacoustic และ Music Psychology ก็ได้ยืนยันว่า วัฒนธรรมแบบเอเชีย มีผลต่อการเรียนรู้ทักษะการฟัง โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนแบบญี่ปุ่น สามารถสร้าง Perfect Pitch ได้มากถึง 50% เลยทีเดียว และในทางกลับกัน คนที่มี Perfect Pitch ก็จะสามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะมีหูที่ดีนั่นเอง แยกแยะเสียงสูงต่ำวรรณยุกต์ได้

Ken'ichi Miyazaki, Andrzej Rakowski, Sylwia Makomaska, Cong Jiang, Minoru Tsuzaki, Andrew J. Oxenham, Gregory Ellis, Scott D. Lipscomb; Absolute Pitch and Relative Pitch in Music Students in the East and the West: Implications for Aural-Skills Education. Music Perception 1 December 2018; 36 (2): 135–155. doi: https://doi.org/10.1525/mp.2018.36.2.135

Previous
Previous

เด็กควรเรียน หรือ เล่น?

Next
Next

How to เอาชนะความตื่นเต้น