Q&A All about scale
ปัจจุบันนี้ การสอบหลายๆสถาบันอย่าง ABRSM / Trinity มีทางเลือกเป็น Performnce Pathway ซึ่งไม่จำเป็นต้องเล่นสเกล หรือเทคนิคอื่นๆแล้ว เพียงแต่เล่นบทเพลง 4 เพลง อัดคลิปส่งสอบได้เลย คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีคำถามว่าแล้วยังจำเป็นต้องเรียนสเกลไหม ครูสอนทำไม เสียเวลารึป่าว กว่าจะเรียนสเกลจบก็ 10-15 นาทีแล้ว อยากให้รีบสอนบทเพลง ติวเพลงให้เล่นได้ไวๆ จะดีกว่าไหมคะ
คำตอบคือ เอาจริงๆในการเรียนเกรดต้นๆ อย่างเกรด initial-3 อาจจะยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะบทเพลงยังง่าย ไม่ซับซ้อน แต่พอเริ่มเข้าเกรด 4-5 บทเพลงที่เริ่มยากขึ้น มีรายละเอียดเชิงเทคนิคขึ้น จะเห็นว่าเด็กที่ฝึกสเกลมาแต่เริ่ม สามารถฝึกเพลงได้ไวกว่า รวมถึงมีเทคนิคนิ้วที่ดีกว่า อาจจะเรียกง่ายๆว่าดูแล้วเล่นพลิ้วกว่า นิ้วแข็งแรงกว่า ดังนั้นวันนี้มาสรุปเป็น Q&A รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับสเกลกันค่ะ
ใครต้องเรียนสเกลบ้าง?
นักเรียนที่เรียนจริงจัง ทั้งเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง และจริงจังเพื่อเตรียมแข่งขัน
จำเป็นต้องเรียน 100%
สำหรับเด็กที่เรียนจริงจัง ตั้งใจให้ทักษะการเล่นเปียโนเป็นทักษะความสามารถพิเศษติดตัว มีการเตรียมสอบเกรดวัดระดับ หรือเรียนเพลงสำหรับแข่งขัน แม้จะไม่จำเป็นต้องใช้สเกลในการสอบแล้ว ยังแนะนำให้ฝึกสเกลและแบบฝึกเทคนิคอื่นๆควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานและเทคนิคนิ้วให้ดี พร้อมสำหรับการเล่นเพลงยากๆในลำดับต่อไปค่ะนักเรียนที่เล่นเป็นงานอดิเรก
แนะนำให้เรียน (ระดับความจำเป็น 50%)
สำหรับเด็กๆที่ตั้งใจเล่นดนตรีเป็นการผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กโต หรือผู้ใหญ่ อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนสเกล แต่ทั้งนี้การเรียนสเกลจะเป็นอาวุธลับ ที่ช่วยให้เล่นบทเพลงต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมถึงในอนาคตเมื่อเลิกเรียนไปแล้ว อาจจะมีเพลงอื่นๆ ที่อยากฝึกเล่นด้วยตนเอง หากพอมีพื้นฐานการเล่นสเกลอยู่บ้างก็จะช่วยให้หัดเองได้ง่ายขึ้นค่ะ ดังนั้นสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้หากไม่อยากฝึกสเกลจริงๆ แนะนำอย่างน้อยฝึกเฉพาะคีย์ของบทเพลงที่กำลังเล่นอยู่ก็ได้ค่ะ2. ควรเริ่มซ้อมสเกลเมื่อไหร่?
“เริ่มได้ตั้งแต่เริ่มเรียนเปียโนเลยค่ะ”
สำหรับเด็กเล็กมากๆ อาจจะให้เวลาทำความคุ้นเคยกับเปียโนก่อนในช่วง 1-2 เดือนแรก จากนั้นอาจจะเริ่มแค่ที่ละ 5 โน้ตง่ายๆ ไล่ 5 นิ้วขึ้นลง เช่น วางมือที่ C Position แล้วเล่น CDEFGFEDC (และต่อท้ายด้วย broken chord CEGEC และกด triad CEG พร้อมๆกัน) ฝึกทีละมือ จากนั้นฝึกสองมือให้พร้อมกัน - ใน step ต่อไปอาจจะลองย้ายมือไป position ต่างๆบนคีย์เปียโน
การเล่นแบบนี้ จะช่วยให้เด็กๆได้ฝึกออกแรงนิ้วทั้ง 5 นิ้ว และฝึกการกด triad chord ซึ่งครูสอนเปียโนเด็กเล็กทุกคนทราบดีว่ากว่าจะปั้นให้กด 3 นิ้วลงได้พร้อมกันนั้นไม่ง่ายเลยค่ะ
สำหรับเด็กโต หรือผู้ใหญ่ สามารถค่อยๆเริ่มเล่นได้เลย ถ้าอยากรู้ว่าควรเล่นคีย์ไหนก่อนไล่จากง่ายไปยาก อาจจะดูจาก syllabus สอบเกรดของ Trinity/ABRSM แล้วฝึกไล่ไปทีละเกรด (ตัวอย่าง https://us.abrsm.org/media/64592/piano-scales-2021-guide-final.pdf) หรือแนะนำหนังสือที่ครูชอบ คือ The Complete Book of Scales, Chords, Arpeggios & Cadences (The Complete Book of Scales, Chords, Arpeggios & Cadences: Piano Book | Alfred Music) มีขายในร้านหนังสือดนตรีทั่วไปและแบบ ebook โดยเฉพาะหน้าสุดท้ายที่เป็นสรุป fingering pattern ดูง่าย และใช้งานได้สะดวกมากค่ะ สามารถเลือกคีย์ที่นิ้วเหมือนๆกันมาซ้อมก่อนได้ เพื่อไม่ให้สับสน
3. เล่นไม่ได้ซักที นิ้วผิดตลอด ควรซ้อมอย่างไร?
“Work smart and work hard”
การฝึกสเกล ต้องอาศัยการทำงานของร่างกายหลายๆส่วน ทั้งสมอง (cognitive) การขยับนิ้วมือ (motor skill) และ coordination และจำเป็นต้องทำซ้ำๆจนกว่าจะเกิดเป็น muscle memory และในที่สุดสามารถเล่นได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องฉุกคิดก่อนเล่น
ขั้นแรก cognitive stage of learning
คือจะต้องคิด ทำความเข้าใจ pattern ของสเกลให้ได้ก่อน นึกก่อนว่าคีย์นี้มีกี่ sharp / flat และใช้นิ้วอย่างไร จากนั้นให้ลองเล่น “โดยไม่ใช้เปียโน” อาจจะให้เล่นบนโต๊ะ บนพื้น หรือบนฝาเปียโน (ในเด็กเล็กบางครั้งเราตั้งชื่อสนุกๆว่า magic piano) และขยับนิ้ว พร้อมพูดชื่อตัวโน้ตให้ถูกต้อง วิธีนี้จะช่วยให้สามารถจำ pattern ของตัวโน้ตและนิ้วได้ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น เมื่อทำได้แล้วจึงกลับไปเล่นบนคีย์เปียโนอีกครั้ง
นอกจากนั้น ให้ฝึกจำว่า นิ้วที่ 4 ของแต่ละมือ จะต้องอยู่ที่โน้ตตัวใดในสเกล เนื่องจากนิ้วที่ 4 มักจะเป็นนิ้วที่เป็นจุดหมุนหรือเปลี่ยน position รวมถึงเป็นนิ้วที่ใช้กดโน้ต leading tone (ตัวที่7) ในมือขวา ซึ่งมักจะเป็นตัวที่เด็กส่วนใหญ่สับสนว่ามีชาร์ป หรือแฟลตหรือไม่ หากสามารถจำนิ้วที่ 4 ได้แม่นยำจะเล่นได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
ขั้นที่สอง motor skill
เล่นให้คล่อง ฝึกซ้อมกับเครื่องดนตรี (ต้องเล่นคล่องจนหลับตาเล่นได้) โดยฝึกเล่นทีละมือ แบ่งเป็นการไล่ขึ้น ascending และ ไล่กลับ descending แนะนำฝึกซ้อมโดยใช้ metronome เพื่อควบคุมให้จังหวะสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพราะโดยธรรมชาติของเรามักจะหยุดเล่นหรือเล่นช้าลงเมื่อไม่แน่ใจ
สำหรับเด็กเล็ก สามารถเพิ่มความสนุกได้โดยการให้เด็กเอามือปิดตา 1 ข้าง / ยืนขาเดียว / หลับตาเล่น เป็นการเพิ่มความสนุกและความท้าทาย และในขณะเดียวกันหากทำได้แสดงว่าสามารถเล่นได้คล่องและแม่นยำแล้วค่ะ
สำหรับเด็กโต ควรกำหนดรอบ ตั้งเป้าหมาย ว่าวันนี้จะเล่นให้ถูกติดต่อกันครบ 3 รอบ หรือ 5 รอบ และซ้อมจนกว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ฝึก coordination โดยการเล่นพร้อมกัน 2 มือ และหยุดค้าง (freezing) เมื่อมีการหมุนนิ้ว เป็นท่อนสั้นๆ เพื่อให้เกิด muscle memory จำกระบวนท่านี้ให้ได้ แล้วค่อยๆเพิ่มต่อทีละท่อนสั้นๆ จนกว่าจะครบทั้งสเกล
นอกจากนั้นยังเพิ่มความท้าทาย โดยการเล่นสองมือ คนละ dynamic เช่น มือขวาดัง มือซ้ายเบา หรือคนละ articulation เช่น มือขวา staccato มือซ้าย legato รวมถึงอาจจะเล่นคนละคีย์ เช่น มือขวา C major มือซ้าย C minor เพื่อเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นต้น
4. ไม่อยากเรียน ไม่อยากซ้อมสเกล ทำไงดี?
“No Scales please!”
เด็กๆหลายคนชอบซ้อมเปียโน ชอบเล่นบทเพลงและทำได้ดี
แต่เวลาเรียกให้ซ้อมสเกลทีไร ขอข้ามทุกที!
สำหรับเด็กเล็ก pre school / primary อาจจะค่อยๆหลอกล่อ ให้ทำวันละนิด สร้างสรรค์ให้เป็นเกมส์เล็กๆในการเรียน เช่น
วางตุ๊กตาตัวเล็กๆ ไว้สองฝั่งของเปียโน โดยอาจจะวางไว้บนคีย์บอร์ด แล้วบอกให้ค่อยๆไล่นิ้วขึ้นไปหาตุ๊กตาอีกตัวนึง และไล่กลับลงมาหาตุ๊กตา อาจจะเล่านิทานประกอบไปด้วยก็ได้ แล้วเมื่ออยากให้ลองเล่นสเกลยาวขึ่้น เพิ่มจำนวน octave มากขึ้น ก็ค่อยขยับตุ๊กตาให้ห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ
การใช้ post it / sticky note อันเล็กๆ ให้เด็กๆช่วยแปะบนคีย์เปียโน ว่าสเกลอันนี้มีโน้ตตัวอะไร คีย์ดำตรงไหนบ้าง เด็กๆจะรู้สึกทำได้ง่ายขึ้น
สำหรับเด็กโต เราสามารถอธิบายถึงประโยชน์ของการซ้อมสเกลได้เลยค่ะ เพราะเด็กโตเริ่มคิดเป็นเหตุเป็นผล การจะสอนอะไร(โดยเฉพาะของยากและน่าเบื่อ) ควรจะต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความสำคัญ และผลที่จะได้รับจากการฝึกนั้นๆ ซึ่งขอยกประโยชน์ของสเกล มาจาก อ. Melanie Spanswick สรุปไว้ได้แก่
ช่วยสร้างความคุ้นเคยกับคีย์เปียโน
เพราะการเล่น scale และ arpeggio ในคีย์ต่างๆ ทำให้เราได้กดแทบทุกคีย์บนเปียโน เหมือนกับการเล่นกีฬา ที่ต้องฝึกเดาะบอล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความคุ้นเคยของร่างกายเรากับอุปกรณ์หรือเครื่องดนตรีของเราได้อย่างดีช่วยฝึกเทคนิคการเล่นเปียโน
เพราะ scale, arpeggio, broken chord เป็นเหมือนท่าพื้นฐานที่เราจะต้องใช้ในการเล่นบทเพลงต่างๆ หากเปรียบเทียบกับการฝึกตีปิงปอง หรือตีเทนนิส ก็ต้องมีการฝึกตีหน้ามือ หลังมือให้แม่นยำก่อนเช่นกันนอกจากนั้น เวลาที่คุณครูเจอท่อนต่างๆในบทเพลง ที่มาจากสเกล อาจจะชี้ให้เห็นว่า นี่ไง อันนี้มาจากสเกลคีย์ที่เราซ้อมมาแล้ว ใช้นิ้วเหมือนกันเลยนะ เด็กๆจะเห็นภาพ เข้าใจและเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นค่ะ
ช่วยความเข้าใจด้านทฤษฎีดนตรี
เพราะ scale ที่จริงแล้วก็เป็นการพัฒนามาจาก ระบบ mode ต่างๆ ทำให้เข้าใจที่มา ที่ไป ของดนตรีตะวันตกได้ง่ายขึ้น จนต่อยอดไปถึงการทำความเข้าใจคอร์ดต่างๆอีกด้วย
ดังนั้นวิธีที่ practical ที่สุดสำหรับเด็กที่กำลังฝึกทำโจทย์เพื่อสอบ Theory คือการท่องจำ ทำความเข้าใจระบบ circle of fifth ควบคู่ไปกับการเล่นเปียโนไล่เสียงไปด้วยเพราะการได้ยินเสียง และการนึกภาพคีย์เปียโน ถ้าเวลากระชั้นอาจจะยังไม่จำเป็นต้องฝึกนิ้วให้ถูกต้องก็ได้ แต่ขอให้กดให้ถูกตัวก่อนช่วยพัฒนา Sight Reading
เพราะ การเล่น scale ช่วยให้เรามี pattern การใช้นิ้วที่ทำจนเป็นอัตโนมัติ เป็นท่าไม้ตายในคีย์ต่างๆ เดารูปแบบโจทย์ sight reading ได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยให้ผิดพลาดพวก accidental (ชาร์ปหรือแฟลต)ได้น้อยลง เพราะมีความคุ้นเคยกับคีย์ต่างๆเป็นอย่างดีช่วยฝึก aural skill (การฟัง)
บางคนอาจจะสงสัยว่าเกี่ยวกันยังไง แต่สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างเสียงในหัว หรือการจำเสียงได้อย่างแม่นยำทั้ง Perfect Pitch และ Relative Pitch นั้นไม่ใช่เพียงการจำระดับเสียงโน้ตแต่ละตัวได้ แต่จะต้องจำระยะห่างของเสียงโน้ต (interval) ต่างๆได้ ซึ่งการฝึกซ้อมสเกล และ arpeggio จะช่วยให้ผู้เล่นได้ฟังเสียงเหล่านี้บ่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น ในการสอบ ABRSM Grade 4 เด็กๆจะต้องเริ่มอ่านโน้ต แล้วทำ sight singing แบบง่ายๆให้ได้ เห็นโน้ตแล้วต้องรู้ว่าตัวนี้เสียงอะไร หนึ่งในวิธีการฝึกคือการร้องสเกลบ่อยๆนั่นเองช่วยฝึก co-ordination ของมือทั้ง 2 ข้าง
โจทย์ยากของการเล่นเปียโน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คือการทำงานประสานกันของมือทั้งสองข้าง
หากคุณพบปัญหา พยายามเล่นมือขวาดัง มือซ้ายเบา แต่ทำไม่ได้ เพราะแยกประสาทมือสองข้างไม่ค่อยได้ ฝึกสเกลช่วยได้ค่ะ
เพราะเวลาฝึกเล่น parallel motion หรือไล่ไปในทางเดียวกัน นิ้วสองข้างจะไปไม่พร้อมกัน ทำให้งง เล่นไม่ถูก กว่าจะเล่นได้ทุลักทุเลเหลือเกิน แต่หากสามารถฝึกได้แล้ว จะช่วยให้เราสามารถควบคุมมือทั้งสองข้างได้ดีขึ้น และเล่นบทเพลงต่างๆได้ดีขึ้นนั่นเอง5. เล่นได้แล้ว…ยังไงต่อ?
“เล่นต่อไปให้ดียิ่งขึ้น”
พอเล่นได้จนคล่องดีแล้ว โน้ตถูกต้อง นิ้วถูกต้อง ควรพัฒนาคุณภาพของเสียง (sound quality) ในการกดโน้ตแต่ละตัว สังเกตดูรูปนิ้ว ข้อมือ แขน ว่าเราเผลอเกร็งที่จุดไหนหรือไม่ ลองเล่นโดยทำเป็น rhythmic pattern ต่างๆ เพื่อฝึกความแข็งแรงและการควบคุมของแต่ละนิ้ว พยายามทำ shape ประโยคของสเกล ให้มีความเป็นธรรมชาติและไพเราะยิ่งขึ้น การซ้อมสเกลสามารถทำได้ตลอดชีวิต ทุกวันนี้ครูเองก็ยังเอาสเกลมาเล่นบ่อยๆ เป็นการ warm นิ้วแบบไวๆ ระหว่างรอนร.มาเรียนค่ะ
Tips สำหรับการเรียน/ซ้อม :
ให้เริ่มคลาสเรียนหรือการซ้อมในแต่ละวัน ด้วยการเล่นสเกล เพื่อเป็นการ warm up ก่อนซ้อมบทเพลงอื่นๆเสมอ จนกลายเป็น routine ที่ทำเป็นประจำทุกครั้ง จะทำให้เด็กๆรู้สึกเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างกับการต้องตื่นมาแปรงฟันตอนเช้า สุดท้ายการซ้อมสเกลจะเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเรียนหรือการฝึกซ้อมที่ต้องทำโดยไม่ได้รู้สึกฝืนใจมากนักค่ะ
“Keep calm and practice scales”
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนและฝึกซ้อมดนตรี คือคุณครู คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงเด็กๆเองจะต้อง “ใจเย็นๆ” การฝึกสเกลไม่ต่างอะไรกับนักกีฬา กว่าจะเดาะบอลได้ครบ 50 ครั้งโดยไม่ทำพลาดเลย หรือกว่าจะฝึกตีลังกาท่าใหม่ๆได้อย่างเพอร์เฟ็ค ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ค่อยๆฝึกกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนะคะ :)